[1] มาตรา ๑๓๔/๔ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๒๒) พ.ศ. ๒๕๔๗
เจาะประเด็น คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ
มาตรา ๑๓๔/๔ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในการถามคำให้การผู้ต้องหาให้ พนักงานสอบสวนแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบก่อนว่า (๑) ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ ถ้าผู้ต้องหาให้การ ถ้อยคำที่ผู้ต้องหาให้การนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ ซึ่งเป็นอย่างเดียวกับสิทธิผู้ถูกจับตามมาตรา ๘๓ วรรคสอง (๒) ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้
คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๑๔๖/๒๕๕๐ ในขณะที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ ๒ และพนักงานสอบสวนได้สอบสวนจำเลยที่ ๒ นั้น พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. (ฉบับที่ ๒๒) ฯ มาตรา ๔ และมาตรา ๓๘ ซึ่งได้บัญญัติเพิ่มเติมมาตรา ๗/๑ และมาตรา ๑๓๔/๔ ที่บัญญัติให้มีการแจ้งสิทธิดังกล่าวแก่ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหายังมิได้ออกใช้บังคับ ประกอบกับ ป.วิ.อ. ที่แก้ไขใหม่ดังกล่าว ก็ไม่มีบทบัญญัติให้นำมาตรา ๗/๑ และมาตรา ๑๓๔/๔ มาใช้บังคับแก่คดีที่มีการจับกุมและสอบสวนเสร็จสิ้นไปก่อนวันที่กฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติม ดังกล่าวมีผลใช้บังคับ จึงต้องใช้หลักทั่วไปว่ากฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมและพนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งให้จำเลยที่ ๒ ทราบถึง สิทธิต่าง ๆ ดังกล่าว จึงชอบด้วยกฎหมายขณะที่มีการจับกุมและสอบสวน
คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๓๕๓๕/๒๕๕๓ ในขณะที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลย และพนักงานสอบสวนได้สอบสวนจำเลยนั้น พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. (ฉบับที่ ๒๒) ฯ มาตรา ๔ และมาตรา ๓๙ ซึ่งได้บัญญัติเพิ่มเติมมาตรา ๒๗/๑ และมาตรา ๑๓๔/๔ ที่บัญญัติให้มีการแจ้งสิทธิดังกล่าวแก่ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหายังได้ออกใช้บังคับ ประกอบกับ ป.วิ.อ. ที่แก้ไขใหม่ดังกล่าวก็ไม่มีบทบัญญัติให้นำมาตรา ๗/๑ และ มาตรา ๑๓๔/๔ มาใช้บังคับแก่คดีที่มีการจับกุมและสอบสวนเสร็จสิ้นไปก่อนวันที่กฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติม ดังกล่าวมีผลใช้บังคับ จึงต้องใช้หลักทั่วไปที่ว่ากฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมและพนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งให้จำเลยทราบถึงสิทธิต่าง ๆ โดยละเอียดดังกล่าวจึงชอบแล้ว
โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้แล้วว่ามีการสอบสวนแล้ว ทั้งจำเลยก็มิได้ฎีกาว่าการสอบสวนไม่ชอบเพราะเหตุผลอื่น ๆ เพียงแต่อ้างว่าการตรวจค้นโดยไม่มีหมายค้นเป็นการไม่ชอบ จึงต้องถือว่าการสอบสวนในความผิดที่กล่าวหาตามฟ้องชอบแล้วนอกจากนี้ การตรวจค้นและการสอบสวนเป็นการดำเนินการคนละขั้นตอนกัน แม้การตรวจค้นจับกุม และไม่ชอบด้วยกฎหมายก็หามีผลทำให้การสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วยไม่
ร้อยตำรวจเอก ป. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจย่อมมีอำนาจหน้าที่ในการรักษา ความสงบเรียบร้อยของประชาชนและทำการจับกุมปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายได้ นอกจากนี้ยังมีอำนาจทำการสืบสวนคดีอาญาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒ (๑๖) (๑๗) และมาตรา ๑๗ ซึ่งเป็นไปโดยผลของกฎหมาย ดังนั้น ร้อยตำรวจเอก ป. จึงมีอำนาจจับกุม ควบคุมตัวจำเลย ตลอดจนการจัดทำเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในอำนาจหน้าที่ได้ หาใช่จะเป็นเจ้าพนักงานตำรวจหรือไม่ขึ้นอยู่กับการลงบันทึกประจำวันว่าออกปฏิบัติหน้าที่ ดังที่จำเลยอ้างในฎีกาแต่อย่างใดไม่
มาตรา ๑๓๔/๔ วรรคสอง บัญญัติว่า เมื่อผู้ต้องหาเต็มใจให้การอย่างใดก็ให้จดคำให้การไว้ ถ้าผู้ต้องหาไม่เต็มใจให้การเลยก็ให้บันทึกไว้ ซึ่งในวรรคนี้นักศึกษาต้องดู มาตรา ๑๓๕ ประกอบโดยมาตรา ๑๓๕ บัญญัติว่า ในการถามคำให้การผู้ต้องหา ห้ามมิให้พนักงานสอบสวนทำหรือจัดให้ทำการใด ๆ ซึ่งเป็นการให้คำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง ทรมาน ใช้กำลังบังคับ หรือกระทำโดยมิชอบประการใด ๆ เพื่อจูงใจให้เขา ให้การอย่างใด ๆ ในเรื่องที่ต้องหานั้น