มาตราที่ออกสอบ ผู้ช่วยผู้พิพากษา ข้อ 7 วิแพ่ง
มาตรา ๑๗๙ (อนุ (๑) (๒) ออกสอบ ข้อ ๗ ปี ๒๕๔๑ , ๒๕๔๕ , ๒๕๔๖ ,๒๕๕๐ , ๒๕๕๔, ๒๕๕๕ ,๒๕๖๐ , ข้อ ๘ ปี ๒๕๕๗ ,๒๕๖๒) โจทก์หรือจำเลยจะแก้ไขข้อหา ข้อต่อสู้ ข้ออ้าง หรือข้อเถียงอันกล่าวไว้ในคำฟ้องหรือคำให้การที่เสนอต่อศาลแต่แรกก็ได้
การแก้ไขนั้น โดยเฉพาะอาจเป็นการแก้ไขในข้อต่อไปนี้
(๑) เพิ่ม หรือลด จำนวนทุนทรัพย์ หรือราคาทรัพย์สินที่พิพาทในฟ้องเดิม หรือ (ออกสอบ ข้อ ๗ ปี ๒๕๔๑ ,๒๕๕๔ , ข้อ ๘ ปี ๒๕๕๗)
(๒) สละข้อหาในฟ้องเดิมเสียบางข้อ หรือเพิ่มเติมฟ้องเดิมให้บริบูรณ์โดยวิธีเสนอคำฟ้องเพิ่มเติม หรือเสนอคำฟ้องเพื่อคุ้มครองสิทธิของตนในระหว่างการพิจารณา หรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง หรือ (ออกสอบ ข้อ ๗ ปี ๒๕๔๑ , ๒๕๔๕ + ฟ้องแย้ง ,๒๕๕๔)
(๓) ยกข้อต่อสู้ขึ้นใหม่ เป็นข้อแก้ข้อหาเดิม หรือที่ยื่นภายหลัง หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้ออ้าง หรือข้อเถียงเพื่อสนับสนุนข้อหา หรือเพื่อหักล้างข้อหาของคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง (เน้นออกสอบ ปี ๒๕๖๔)
แต่ห้ามมิให้คู่ความฝ่ายใดเสนอคำฟ้องใดต่อศาล ไม่ว่าโดยวิธีฟ้องเพิ่มเติมหรือฟ้องแย้ง ภายหลังที่ได้ยื่นคำฟ้องเดิมต่อศาลแล้ว เว้นแต่คำฟ้องเดิมและคำฟ้องภายหลังนี้จะเกี่ยวข้องกันพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ (ออกสอบ ข้อ ๗ ปี ๒๕๔๒ , ๒๕๔๖ , ๒๕๕๐ ,๒๕๖๐ ,๒๕๖๒)
สกัดหลัก เจาะประเด็น ที่น่าสนใจ
ต้องยื่นก่อนวันชี้สองสถาน หรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน ปัญหาที่จะพิจารณาก็คือ คำว่า “ก่อน” ชี้สองสถานจะหมายความว่า ก่อนวันนั้นจริง ๆ หรือไม่ เช่น
นัดชี้สองสถานวันที่ ๑๗ กันยายน การขอแก้ฟ้องหรือคำให้การจะต้องยื่นภายในวันที่ ๑๖ กันยายน ถ้ายื่นในวันที่ ๑๗ กันยายน แม้จะยังไม่ได้เริ่มชี้สองสถานจะได้หรือไม่
คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๐๔๖/๒๕๓๑ จำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การในวันชี้สองสถานและข้อที่ขอแก้ไขก็เป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฎชัดแจ้งในคำให้การแต่แรกอยู่แล้ว จึงเป็นคำร้องที่ขัดต่อ ป.วิ.พ. มาตรา ๑๘๐ (๒) ชอบที่จะยกคำร้องของจำเลย
คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๔๖๕/๒๕๕๒ ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานในวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๘ โดยไม่มีการชี้สองสถาน การที่จำเลยที่ ๒ จะยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การจึงอาจทำได้ภายในวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๔๘ เมื่อจำเลยที่ ๒ ยื่นคำร้องขอ แก้ไขคำให้การในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๔๘ จึงเป็นการยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การ เมื่อพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด แต่การที่จำเลยที่ ๒ ขอแก้ไขคำให้การเป็นว่าสัญญาค้ำประกันที่โจทก์นํามาฟ้องเป็นสัญญาที่เกิดจากการแสดงเจตนาลวง จึงไม่มีมูลหนี้และตกเป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ปัญหาที่ว่านิติกรรมใดเป็นโมฆะ หรือไม่ ถือเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ ๒ จึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การในเรื่องดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๘๐ แม้เป็นการยื่นเมื่อพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดก็ตาม (อ่านต่อ...)
--------------------------------------------------------------------- ข้อมูลความรู้ แบ่งปันสมาชิก เพื่อประโยชน์สำหรับเตรียมสอบ เท่านั้น. รวบรวม สกัดหลักจากคำพิพากษาศาลฎีกา ,ฎีกาใหม่,คำบรรยายเนติฯ ,อื่นๆ และ/หรือ จากสมาชิกเว็บไซต์ ที่ร่วมแบ่งปันข้อมูล.
---------------------------------------------------------------------
จำนวนเข้าชม/ดาวน์โหลด : 135 ครั้ง |