คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1209/2531
ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7)
ป.อ. มาตรา 95, 96
พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 มาตรา 3
ข้อความในบันทึกการร้องทุกข์ของโจทก์มีว่า "...มาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินคดีอาญากับผู้สั่งจ่ายตามกฎหมายจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ในชั้นนี้ขอรับเช็คคืนไปเก็บรักษาไว้เพื่อจะได้ติดต่อกับผู้สั่งจ่ายอีกทางหนึ่ง" ดังนี้เป็นการแจ้งความกล่าวหาโดยมีเจตนาให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ การขอรับเช็คคืนไปเพื่อติดต่อกับผู้สั่งจ่ายมิใช่เป็นข้อความที่แสดงว่ายังไม่มอบคดีให้ จึงเป็นคำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2(7) แล้ว เมื่อโจทก์ร้องทุกข์ภายในกำหนด 3 เดือนนับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน และโจทก์ฟ้องคดีภายในกำหนด 5 ปีคดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
________________________________
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 เป็นเช็ค 2 ฉบับสั่งจ่ายเงินฉบับละ 50,000 บาท ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วประทับฟ้องไว้พิจารณา จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 1 ที่ 2 หลบหนี ศาลชั้นต้นจึงจำหน่ายคดี คงดำเนินคดีจำเลยที่ 3 ต่อไปแล้วพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3 ตามเช็ค ฉบับละ5 เดือน รวมจำคุก 10 เดือน จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "สำหรับปัญหาที่ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่นั้น จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2524 โจทก์อ้างว่าไปร้องทุกข์แล้วภายในอายุความตามเอกสารหมาย จ.5 แต่จำเลยที่ 3 เห็นว่า ไม่เป็นการร้องทุกข์ตามกฎหมาย เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน2525 จึงขาดอายุความนั้น ข้อความในบันทึกการร้องทุกข์ เอกสารหมาย จ.5 มีว่า "...มาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินคดีอาญากับผู้สั่งจ่ายตามกฎหมายจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ในชั้นนี้ขอรับเช็คคืนไปเก็บรักษาไว้เพื่อจะได้ติดต่อกับผู้สั่งจ่ายอีกทางหนึ่ง" ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า ข้อความในบันทึกการร้องทุกข์ เอกสารหมาย จ.5 ในตอนต้นระบุว่ามาร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีอาญากับผู้สั่งจ่ายจนกว่าคดีจะถึงที่สุด แสดงว่าโจทก์ได้แจ้งความกล่าวหาโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ แม้จะมีข้อความในตอนหลังว่าในชั้นนี้ขอรับเช็คคืนไปเก็บรักษาไว้เพื่อจะได้ติดต่อกับผู้สั่งจ่ายอีกทางหนึ่งก็ตาม ก็มิใช่เป็นข้อความที่แสดงว่ายังไม่มอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการดังจำเลยฎีกา การขอรับเช็คกลับคืนไปก็เพื่อติดต่อกับผู้สั่งจ่ายอีกทางหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่มีผลกระทบต่อการแจ้งความร้องทุกข์แต่อย่างใดดังนั้นข้อความในเอกสารหมาย จ.5 จึงเป็นคำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(7) แล้ว เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินวันที่ 5 ตุลาคม 2524 ผู้รับมอบอำนาจให้แจ้งความก็มาแจ้งความร้องทุกข์เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2524 ซึ่งเป็นเวลาไม่เกิน 3 เดือน นับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินและโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2525 ภายในกำหนด 5 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมานั้น ชอบแล้ว"
พิพากษายืน
(ธีรศักดิ์ กรรณสูต - บุญส่ง คล้ายแก้ว - ถวิล ทองสว่างรัตน์)
หมายเหตุ
ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2497 มาตรา 3 ฐานออกเช็คโดยมีเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค นั้น เป็นความผิดต่อส่วนตัว หรือความผิดอันยอมความได้ซึ่งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 96 บัญญัติว่า ผู้เสียหายจะต้องร้องทุกข์ภายในสามเดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดหรือรู้ตัวกระทำผิดมิฉะนั้นคดีขาดอายุความ ดังนั้น ในการดำเนินคดีอาญาดังกล่าวถ้าไม่อาจดำเนินคดีได้ภายในกำหนดเวลาสามเดือนดังกล่าว จึงต้องร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เพื่อให้ความผิดในข้อหานี้มีกำหนดอายุความห้าปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95
คำร้องทุกข์ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(7) ซึ่งมีสาระสำคัญว่า ต้องมีการกล่าวหาว่ามีการกระทำผิดเกิดขึ้น ทำให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหาย และประสงค์จะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ
คำร้องทุกข์ที่มิได้เป็นไปตามเงื่อนไขดังกล่าว จะถือว่าไม่มีการร้องทุกข์และหากมีการฟ้องคดีเกินกำหนดเวลาสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด ศาลต้องพิพากษายกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185
ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า คำร้องทุกข์ที่มีข้อความอย่างใด จึงจะเป็นคำร้องทุกข์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย
แนวคำพิพากษาฎีกาที่วินิจฉัยว่า ไม่เป็นคำร้องทุกข์ เช่นคำพิพากษาฎีกาที่ 1361/2517,2410/2518(ประชุมใหญ่),1849/2519,1425/2521,1725/2522,314/2529,3979/2530ฯลฯ ซึ่งให้เหตุผลส่วนใหญ่ว่า เป็นการแจ้งความไว้เพื่อมิให้คดีขาดอายุความผู้เสียหายขอรับเช็คคืนไปเพื่อติดตามทวงถามก่อน ยังไม่มอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี แสดงว่า ในขณะที่แจ้งความยังไม่มีเจตนาจะให้ผู้ออกเช็คได้รับโทษ
ข้อเท็จจริงในคดีนี้ ข้อความในคำแจ้งความมีว่า "...มาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินคดีอาญากับผู้สั่งจ่ายตามกฎหมายจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ในชั้นนี้ขอรับเช็คคืนไปเก็บรักษาไว้ เพื่อจะได้ติดต่อกับผู้สั่งจ่ายอีกทางหนึ่ง" ซึ่งมีแนวความเห็นว่า กรณีเช่นนี้ ไม่เป็นคำร้องทุกข์ตามแนวคำพิพากษาที่ได้กล่าวถึงเนื่องจากผู้เสียหายยังไม่มีเจตนาจะให้ผู้ออกเช็คได้รับโทษโดยอาศัยพฤติการณ์ในคดีที่ปรากฏ อาทิ :
1. คำแจ้งความของผู้เสียหายเป็นเงื่อนไขว่า จะขอรับเช็คไปติดต่อกับผู้สั่งจ่ายอีกทางหนึ่ง เป็นที่เข้าใจได้ว่าในขณะนั้นยังไม่มอบคดีแก่พนักงานสอบสวน
2. การขอรับเช็คคืนไปเป็นข้อสนับสนุนว่า ยังไม่มอบคดีเพราะพนักงานสอบสวนจะไม่มีหลักฐานในการดำเนินคดีอาญา
3. คำแจ้งความของผู้เสียหาย มีลักษณะที่จะไม่ให้คดีขาดอายุความเพื่อจะใช้สิทธิในการดำเนินคดีอาญาเป็นข้อต่อรองกับผู้ออกเช็ค
อย่างไรก็ดี มติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า การขอรับเช็คไม่มีผลลบล้างต่อการแจ้งความร้องทุกข์ และจะถือว่ายังไม่มอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการไม่ได้เพราะถ้อยคำในคำแจ้งความระบุไว้ชัดเจนว่าให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีอาญากับผู้สั่งจ่ายแล้ว การขอรับเช็คไปดำเนินการอีกทางหนึ่ง เป็นทางเลือกของผู้เสียหายที่นอกเหนือไปจากการมอบคดีแก่พนักงานสอบสวน มิใช่จำกัดว่าจะต้องดำเนินคดีโดยพนักงานสอบสวนแต่ทางเดียวเท่านั้น
อนึ่ง มีข้อสังเกตว่า แนวคำพิพากษาฎีกาที่อ้างถึงข้างต้นซึ่งวินิจฉัยว่าไม่เป็นคำร้องทุกข์นั้น ไม่ปรากฏว่ามีข้อความที่มอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีอาญาอันพอจะถือได้ว่าผู้เสียหายมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษเลยซึ่งต่างกับคดีนี้
คำพิพากษาฎีกาฉบับนี้ คงจะเป็นบรรทัดฐานที่มีลักษณะชี้เฉพาะและเด่นชัดมากขึ้นว่า คำร้องทุกข์ที่ชอบด้วยกฎหมายนั้นเป็นเช่นใด
สุชาติ สุขสุมิตร
--------------------------------------------------------------------- ข้อมูลความรู้ แบ่งปันสมาชิก เพื่อประโยชน์สำหรับการศึกษา เท่านั้น. รวบรวม สกัดหลักจากคำพิพากษาศาลฎีกา,คำบรรยายเนติฯ ,อื่นๆ และ/หรือ จากสมาชิกเว็บไซต์ ที่ร่วมแบ่งปันข้อมูล.
---------------------------------------------------------------------
จำนวนเข้าชม/ดาวน์โหลด : 242 ครั้ง |