คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2914/2537
ป.อ. มาตรา 140
ป.วิ.อ. มาตรา 2(13), 81(1)
โรงค้าไม้ที่ใช้เป็นที่พักอาศัยยาม ที่โรงค้าไม้หยุดดำเนินกิจการ ภายในบริเวณโรงค้าไม้ไม่ว่าจะเป็นด้านหน้าหรือด้านหลังย่อมไม่ใช่สาธารณสถาน แต่เป็นที่รโหฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 2(13)แม้โจทก์ร่วมจะมีอำนาจจับกุมจำเลยเพราะเป็นกรณีที่มีผู้ขอให้จับโดยแจ้งว่าจำเลยได้กระทำความผิดและแจ้งด้วยว่าได้ร้องทุกข์ไว้ตามระเบียบแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 78(4) แต่การจับกุมตามกรณีดังกล่าว ก็ต้องมิใช่เป็นการจับกุมในที่รโหฐานเพราะตามมาตรา 81 บัญญัติว่า จะมีหมายจับหรือไม่ก็ตามห้ามมิให้จับในที่รโหฐาน เว้นแต่จะได้ทำตามบัญญัติว่าด้วยการค้นในที่รโหฐาน ซึ่งพฤติการณ์ของโจทก์ร่วมที่กระทำไปก็หาต้องด้วยข้อยกเว้นดังกล่าวไม่ การที่โจทก์ร่วมกับพวกเข้าทำการจับกุมจำเลยในที่รโหฐาน จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบทั้งปราศจากอำนาจที่จะทำได้ตามกฎหมาย ถือไม่ได้ว่าเป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่ แม้จำเลยจะต่อสู้ขัดขวางการจับกุมและทำร้ายโจทก์ร่วมจริง การกระทำของจำเลยก็เป็นการป้องกันชอบด้วยกฎหมาย
________________________________
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่โดยจำเลยมีและใช้แป๊ปน้ำ 1 ท่อน เป็นอาวุธขู่เข็ญและใช้กำลังประทุษร้ายเป็นเหตุให้ร้อยตำรวจตรีศุภมิตรกับพลตำรวจกิตติได้รับอันตรายแก่กาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138, 140, 296
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาร้อยตำรวจโทศุภมิตร ศิลปสมบูรณ์ และพลตำรวจกิตติ ทองส่งเสริม ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต และให้เรียกร้อยตำรวจโทศุภมิตรศิลปสมบูรณ์ ว่า โจทก์ร่วมที่ 1 เรียกพลตำรวจกิตติ ทองส่งเสริมว่าโจทก์ร่วมที่ 2
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ร่วมทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138 วรรคสอง และมาตรา 296 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ใช้มาตรา 296 ซึ่งเป็นบทหนักลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน และปรับ2,000 บาท จำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เมื่อคำนึงถึงสภาพความผิดแล้ว ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ถ้าไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 4 เดือน มีกำหนด 1 ปี และกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ระหว่างรายงานตัวตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควร มีกำหนด 40 ชั่วโมง
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าในวันเวลาเกิดเหตุนายพรเทพ ท้วมสมบูรณ์ ได้พาโจทก์ร่วมทั้งสองไปจับกุมจำเลยซึ่งนายพรเทพแจ้งความไว้ว่าขับรถยนต์ชนรถจักรยานยนต์ของผู้แจ้งได้รับความเสียหายที่บริเวณโรงค้าไม้ชื่อเจริญวัฒนาค้าไม้ โจทก์ร่วมทั้งสองได้ร่วมกันจับกุมจำเลยโดยไม่มีหมายจับและหมายค้น จำเลยขัดขืนการจับกุมจนโจทก์ร่วมที่ 1ต้องสั่งให้โจทก์ร่วมที่ 2 ติดต่อเรียกเจ้าพนักงานตำรวจมาช่วยอีกสองคนจึงจับกุมจำเลยได้โรงค้าไม้ที่เกิดเหตุเป็นของนายสัมพันธ์บิดาจำเลย ซึ่งนอกจากจะขายไม้แล้วยังขายวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ด้วยคดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ข้อนี้โจทก์จำเลยต่างนำสืบโต้เถียงข้อเท็จจริงกันว่าในวันเกิดเหตุโรงค้าไม้หยุดทำการค้าหรือไม่เห็นว่า พยานโจทก์ขัดแย้งกับเหตุผลมีน้ำหนักน้อย จึงเชื่อว่าในวันเกิดเหตุโรงค้าไม้หยุดดำเนินกิจการตามที่จำเลยนำสืบจริงและเมื่อปรากฏว่าโรงค้าไม้ดังกล่าวมีรั้วรอบขอบชิดและนอกจากจะใช้เป็นสถานประกอบการค้าแล้วยังใช้เป็นที่พักอาศัยด้วย ดังนั้น ในยามที่โรงค้าไม้หยุดกิจการ ภายในบริเวณโรงค้าไม้ไม่ว่าจะเป็นด้านหน้าหรือด้านหลังย่อมไม่ใช่สาธารณสถานอันเป็นสถานที่ใด ๆ ซึ่งประชาชนมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้ แต่กลับเป็นที่รโหฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2(13) แม้โจทก์ร่วมทั้งสองจะมีอำนาจจับกุมจำเลยในกรณีที่มีผู้ขอให้จับโดยแจ้งว่าจำเลยได้กระทำความผิดและแจ้งด้วยว่าได้ร้องทุกข์ไว้ตามระเบียบแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 78(4) ก็ตาม แต่กรณีดังกล่าวก็ต้องมิใช่เป็นการจับกุมในที่รโหฐาน เพราะตามมาตรา 81 บัญญัติว่า "จะมีหมายจับหรือไม่ก็ตามห้ามมิให้จับ (1) ในที่รโหฐาน เว้นแต่จะได้ทำตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้ อันว่าด้วยการค้นในที่รโหฐาน ฯลฯ" ซึ่งพฤติการณ์ของโจทก์ร่วมทั้งสองที่กระทำไปก็หาต้องด้วยข้อยกเว้นดังกล่าวไม่การที่โจทก์ร่วมทั้งสองกับพวกเข้าทำการจับกุมจำเลยในที่รโหฐานจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบทั้งปราศจากอำนาจที่จะทำได้ตามกฎหมายถือไม่ได้ว่าเป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่ แม้จำเลยจะต่อสู้ขัดขวางการจับกุมและทำร้ายโจทก์ร่วมจริง การกระทำของจำเลยก็เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามา ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยฟังขึ้น"
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
( สะสม สิริเจริญสุข - กู้เกียรติ สุนทรบุระ - ชัยนาท พันตาวงศ์ )
หมายเหตุ
คำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของข้อจำกัดในการจับซึ่งเป็นการจำกัดโดยสถานที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 81(1) เนื่องจากที่รโหฐานควรเป็นที่ที่ทุกคนอยู่ได้อย่างสงบและปลอดจากการรบกวนจากภายนอก รวมตลอดถึงการปลอดจากการรบกวนจากอำนาจรัฐตามสมควร ดังนั้น ในกรณีนี้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จึงมีบทบัญญัติพิเศษเพื่อคุ้มครองบุคคลที่อยู่ในสถานที่ดังกล่าว โดยการจับภายใต้การจำกัดนี้ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเสียก่อน คือ ต้องมีทั้งหมายจับและหมายค้นหรือเข้าข้อยกเว้นของการออกหมายจับหรือหมายค้น ทั้งนี้เพื่อให้ความคุ้มครองต่อสิทธิของผู้ที่อยู่ในที่รโหฐาน ทั้งนี้มีตัวอย่างเช่น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1025/2518 จำเลยทำร้ายร่างกาย ด.ด. ไปแจ้งความต่อผู้ใหญ่บ้านขอให้จับ แต่วันนั้นจับไม่ได้เพราะมืด รุ่งเช้าผู้ใหญ่บ้านพา ด. ไปแจ้งความต่อผู้บังคับกองผู้บังคับกองให้ตำรวจไปกับผู้ใหญ่บ้านเพื่อจับ แต่ไม่พบจึงพากันกลับผู้บังคับกองได้สั่งว่าถ้าพบให้จับจำเลยมาดำเนินคดี ตอนเย็นวันนั้นเองผู้ใหญ่บ้านกับผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านพากันไปจับจำเลยโดยคนทั้งสองไม่มีหมายจับ พบจำเลยอยู่ใต้ถุนบ้าน ท. ผู้ใหญ่บ้านแจ้งแก่จำเลยว่า ตำรวจต้องการตัวเรื่องทำร้ายร่างกาย ด. จำเลยไม่ยอมให้จับและต่อสู้ขัดขวาง การเข้าไปจับจำเลยถึงใต้ถุนบ้าน ท.อันเป็นที่รโหฐานเช่นนี้ เป็นกรณีซึ่งอยู่ในบังคับของมาตรา 81(1)ประกอบกับมาตรา 92 ด้วย เมื่อกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 92 การเข้าไปจับนั้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายที่จำเลยขัดขวางการจับกุมจึงไม่เป็นความผิดฐานต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่
แต่มีข้อน่าสังเกตว่า หากข้อเท็จจริงในคดีนี้เข้าข้อยกเว้นการค้นโดยไม่มีหมายค้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 92 ด้วย จะเป็นการจับโดยชอบ
จุมพล ภิญโญสินวัฒน์
--------------------------------------------------------------------- ข้อมูลความรู้ แบ่งปันสมาชิก เพื่อประโยชน์สำหรับการศึกษา เท่านั้น. รวบรวม สกัดหลักจากคำพิพากษาศาลฎีกา,คำบรรยายเนติฯ ,อื่นๆ และ/หรือ จากสมาชิกเว็บไซต์ ที่ร่วมแบ่งปันข้อมูล.
---------------------------------------------------------------------
จำนวนเข้าชม/ดาวน์โหลด : 306 ครั้ง |